ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: เหงือกอักเสบ (Gingivitis) เหงือกอักเสบ (รำมะนาด โรคปริทันต์) เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากโรคหนึ่ง พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
มักพบในผู้ที่ดูแลสุขภาพช่องปากและฟันได้ไม่ดี และกลุ่มคนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้
โรคนี้ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง แต่อาจเป็นเรื้อรัง และหากปล่อยปละละเลย ไม่ได้ดูแลรักษาอย่างจริงจัง ก็อาจทำให้เกิดภาวะที่รุนแรง และการสูญเสียฟันได้
นอกจากนี้ ผู้ที่มีภาวะขาดอาหาร มีความเครียดสูง หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยเอดส์) อาจเกิดโรคเหงือกอักเสบชนิดรุนแรง ที่เรียกว่า "เหงือกอักเสบชนิดแผลเนื้อตายเฉียบพลัน (acute necrotizing ulcerative gingivitis/ANUG)" ซึ่งมักเป็นภาวะแทรกซ้อนของผู้ที่เป็นเหงือกอักเสบเรื้อรัง
สาเหตุ
เกิดจากการสะสมของแผ่นคราบฟัน (dental plaque) และคราบหินปูน* ซึ่งจะมีเชื้อแบคทีเรียอยู่จำนวนมาก เชื้อแบคทีเรียจะปล่อยสารพิษออกมาระคายต่อสารเคลือบฟันและเหงือก ทำให้ฟันผุและเหงือกอักเสบได้ ถ้าปล่อยทิ้งไว้แผ่นคราบฟันและหินปูนจะค่อย ๆ เจาะลึกลงไปในซอกเหงือกและฟัน ในที่สุดจะมีการทำลายกระดูกเบ้ารากฟัน ทำให้ฟันโยกและเกิดถุงหนองในกระดูกเบ้ารากฟันได้ เรียกว่า ฝีรำมะนาด หรือ ฝีปริทันต์ (periodontal abscess)
ปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ ได้แก่ การขาดการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันที่ดี ภาวะผิดปกติของฟันที่ทำให้รักษาความสะอาดได้ลำบาก (เช่น ฟันคุด ฟันคดเคี้ยว) ปากแห้ง ภาวะขาดสารอาหาร (รวมทั้งการขาดวิตามินซี) การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกาย (เช่น การตั้งครรภ์ การกินยาเม็ดคุมกำเนิด) การสูบบุหรี่/เคี้ยวใบยาสูบ ภาวะสูงวัย ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น เบาหวาน เอดส์ มะเร็งเม็ดเลือดขาว การใช้ยารักษาโรคมะเร็ง) ปัจจัยทางพันธุกรรม การใช้ยาบางชนิด (เช่น ยารักษาโรคลมชัก-เฟนิโทอิน ยาลดความดัน-กลุ่มยาต้านแคลเซียม)
เหงือกอักเสบชนิดแผลเนื้อตายเฉียบพลัน (acute necrotizing ulcerative gingivitis/ANUG) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจน (anaerobes) เป็นส่วนใหญ่ เช่น Treponema, Selenomonas, Fusobacterium, Porphyromonas, Prevotella เป็นต้น
*คราบหินปูน (dental calculus) คือ แผ่นคราบฟันหรือแผ่นคราบจุลินทรีย์ที่แข็งตัวขึ้นเนื่องจากมีหินปูนเข้าไปจับตัวกลายเป็นคราบหินปูน ซึ่งเกาะอยู่ตามร่องเหงือกและยากต่อการขจัดออกด้วยตนเอง (จำเป็นต้องให้ทันตแพทย์ใช้เครื่องมือขูดออกเป็นระยะ) หากปล่อยไว้เป็นเวลายาวนาน ก็จะทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบได้
อาการ
ที่พบบ่อยคือ มีอาการเลือดออกเวลาแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน อาจมีเลือดออกเวลากินอาหารหรือผลไม้ที่มีลักษณะแข็ง (ซึ่งมีการครูดถูกเหงือกที่อักเสบ) รู้สึกปวดเหงือกเล็กน้อย หรือมีกลิ่นปาก
สังเกตเห็นขอบเหงือกส่วนที่ติดกับฟันมีอาการบวม สีของเหงือกเปลี่ยนจากปกติที่เป็นสีชมพูเป็นสีแดงเข้มหรือสีออกคล้ำ ๆ
ในรายที่เป็นเหงือกอักเสบชนิดแผลเนื้อตายเฉียบพลัน จะมีไข้ อ่อนเพลีย เหงือกบวมแดงมาก เหงือกเป็นแผลและมีเลือดออกง่าย (อาจมีเลือดออกจากแผลเอง หรือจากการแตะถูกแผลเพียงเบา ๆ) มีกลิ่นปากแรง ผู้ป่วยมักมีอาการปวดแผลที่เหงือกมาก จนทำให้กินหรือกลืนอาหารลำบาก
ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เหงือกและฟันเสีย
ถ้าเป็นถึงขั้นเกิดถุงหนองในกระดูกเบ้ารากฟัน อาจทำให้กลายเป็นโลหิตเป็นพิษ หรือเนื้อเยื่อใต้ขากรรไกรและใต้ลิ้นอักเสบรุนแรงดังที่เรียกว่า ลุดวิกแองไจนา ซึ่งอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้
นอกจากนี้ หากปล่อยให้เป็นเหงือกอักเสบเรื้อรัง อาจเกิด "เหงือกอักเสบชนิดแผลเนื้อตายเฉียบพลัน" ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง มักพบในผู้ที่มีภาวะขาดอาหาร มีความเครียดสูง หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก
มักตรวจพบขอบเหงือกส่วนที่ติดกับฟันมีลักษณะบวมแดง เหงือกร่น (คล้ายกับฟันงอกยื่นยาวขึ้น) หากจับหรือสัมผัสบริเวณเหงือกที่บวมอาจมีอาการเจ็บ และอาจตรวจพบมีฟันผุร่วมด้วย
ในรายที่เป็นเหงือกอักเสบชนิดแผลเนื้อตายเฉียบพลัน ตรวจพบไข้ เหงือกบวมแดง เหงือกเป็นแผล มีเลือดออกง่าย (แตะถูกเบา ๆ ก็มีเลือดออก) มีแผ่นเยื่อบาง ๆ ออกสีเทาเคลือบที่ผิวของเหงือก ต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอ/ใต้คางโต
ในรายที่พบว่ามีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ ตรวจเลือด ตรวจหาเชื้อที่เป็นต้นเหตุของการติดเชื้อ เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
นอกจากแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยแล้ว ทันตแพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
แพทย์จะทำการขูดหินปูนและเกลารากฟัน เพื่อขจัดคราบจุลินทรีย์และคราบหินปูนที่ติดอยู่ตามซอกฟัน
แก้ไขความผิดปกติที่พบ เช่น ทำการอุดฟันหรือครอบฟัน แก้ไขฟันที่คดเคี้ยว เป็นต้น
ถ้ามีอาการรุนแรงหรือมีภาวะเหงือกร่น อาจต้องเจาะเอาหนองออก ผ่าตัดแก้ไขซ่อมแซม ผ่าตัดปลูกถ่ายเหงือก (นำเนื้อเยื่อมาปลูกถ่ายทดแทนเนื้อเยื่อที่เสียหายไป) หรือถอนฟันทิ้ง (ในรายที่ฟันเสียหายจนไม่อาจจะเยียวยาได้) เป็นต้น
ให้ยาบรรเทาอาการ เช่น พาราเซตามอล (ลดไข้แก้ปวด) ใช้ยาชาชนิดเจล (ที่มีตัวยา lidocaine) ทาระงับปวด ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (ลดการอักเสบ) เป็นต้น
ในรายที่พบว่าเหงือกติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้ยาปฏีชีวนะ (เช่น เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน ดอกซีไซคลีน เมโทรไนดาโซล) ยาบ้วนปากที่มีตัวยาฆ่าเชื้อ (เช่น chlorhexidine)
ในรายที่เป็นโรคเหงือกอักเสบชนิดแผลเนื้อตายเฉียบพลันที่รุนแรง หรือโรคลุดวิกแองไจนา แพทย์จำเป็นต้องรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้น้ำเกลือและให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ
ผลการรักษา เมื่อได้รับการรักษาจากแพทย์ร่วมกับการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง อาการมักจะทุเลาได้ภายใน 1 สัปดาห์ และหากผู้ป่วยดูแลสุขภาพช่องปากและฟันได้ดีอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถป้องกันไม่ให้โรคกำเริบหรือป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
การดูแลตนเอง
หากมีอาการเลือดออกเวลาแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน หรือกินอาหารที่มีลักษณะแข็ง ๆ หรือมีอาการปวดเหงือก เหงือกบวมแดงหรือเป็นแผล ควรปรึกษาแพทย์/ทันตแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเหงือกอักเสบ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์/ทันตแพทย์
ติดตามการรักษากับทันตแพทย์ตามนัด
หมั่นดูแลความสะอาดช่องปากและฟัน โดยการแปรงฟันนาน 2 นาที อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้ากับก่อนนอน ใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ถ้าจะดียิ่งขึ้นควรแปรงฟันหลังกินอาหารหรือของว่างทุกครั้งได้ยิ่งดี
ไม่สูบบุหรี่/เคี้ยวใบยาสูบ เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคนี้
บ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ (ผสมเกลือแกง 1 ช้อนชา หรือ 5 มล. ในน้ำอุ่น 1 แก้ว หรือ 250 มล.) วันละ 2-3 ครั้ง
กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และให้สมดุลตามหลักธงโภชนาการ
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
มีไข้สูง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
อาเจียน กินอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้
มีอาการปวดหรือมีเลือดออกมากขึ้น
หลังดูแลตนเองนาน 1 สัปดาห์แล้วอาการเหงือกอักเสบไม่ดีขึ้น เช่น เหงือกยังบวมแดง อาการปวดหรือเลือดออกไม่ทุเลา
มีความวิตกกังวล
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปใช้ที่บ้าน ถ้าใช้ยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หน้ามืด หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
1. โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาความสะอาดไม่ให้มีการสะสมของแผ่นคราบฟัน (แผ่นคราบจุลินทรีย์) ด้วยการแปรงฟันให้ถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง (ควรใช้ไหมขัดฟันก่อนการแปรงฟัน จะช่วยขจัดเศษอาหารและจุลินทรีย์ได้ดียิ่งขึ้น) และหลังกินอาหารทุกครั้งควรบ้วนปากหรือแปรงฟันทันที ควรเปลี่ยนแปรงสีฟันใหม่ทุก 3-4 เดือน ถ้าเป็นไปได้ควรใช้แปรงสีฟันไฟฟ้า เพราะช่วยขจัดคราบจุลินทรีย์และคราบหินปูน
2. ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟันทุก 6-12 เดือน หรือตามแพทย์นัด ถ้าพบมีหินปูนแพทย์จะได้ทำการขูดหินปูน เป็นการป้องกันโรคเหงือกเสียแต่เนิ่น ๆ
3. ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค เช่น ไม่สูบบุหรี่/เคี้ยวใบยาสูบ, กินอาหารให้ครบถ้วนและสมดุล, ดื่มน้ำให้พอเพียง ระวังอย่าให้ปากแห้ง, ควบคุมโรคประจำ (เช่น เบาหวาน) ให้ได้ผล, ป้องกันความเครียดด้วยการหมั่นออกกำลังกายและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น
ข้อแนะนำ
1. นอกจากการดูแลสุขภาพช่องปากไม่ดีแล้ว โรคนี้ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ฟันคุด การใช้ยาบางชนิด (เช่น เฟนิโทอินที่ใช้รักษาโรคลมชัก ไซโคลสปอริน ที่ใช้ในผู้ป่วยผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ ยาลดความดัน-ไนเฟดิพีน เป็นต้น) การติดเชื้อเริมในช่องปาก (ดู โรคเริมในช่องปากชนิดเฉียบพลัน เฮอร์แปงไจนา) ภาวะขาดวิตามินซี (ดู โรคลักปิดลักเปิด) มะเร็งเม็ดเลือดขาว (ซึ่งอาจมีเหงือกบวมแดง และเลือดออกง่ายเป็นอาการนำมาพบแพทย์ก่อนอาการอื่น) เป็นต้น ดังนั้นเมื่อพบผู้ป่วยมีอาการเหงือกอักเสบ ควรตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด
2. หญิงตั้งครรภ์และหญิงวัยหมดประจำเดือนมีโอกาสเป็นโรคเหงือกอักเสบได้มากขึ้น จึงควรใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปาก และปรึกษาทันตแพทย์ให้บ่อยกว่าคนทั่วไป
3. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน เอดส์) อาจเป็นเหงือกอักเสบที่มีความรุนแรงมากกว่าคนปกติ ดังนั้นถ้าพบผู้ที่เป็นเหงือกอักเสบรุนแรงควรตรวจหาสาเหตุที่แฝงอยู่