หมอประจำบ้าน: นิ่วไต (Renal calculus/Kidney stone)นิ่วไต (นิ่วในไต ก็เรียก) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศและทุกวัย แต่จะพบมากในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และพบมากในช่วงอายุ 30-40 ปี
ในบ้านเราพบมากทางภาคเหนือ และภาคอีสาน
นิ่วอาจมีขนาดต่าง ๆ กัน อาจมีเพียงก้อนเดียว หรือหลายก้อนก็ได้ ส่วนมากมักเป็นที่ไตเพียงข้างเดียว ที่เป็นทั้ง 2 ข้างอาจพบได้บ้าง บางรายอาจเป็นซ้ำ ๆ หลายครั้งก็ได้
ผู้ที่มีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนิ่วไตและคนอ้วน มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าปกติ
สาเหตุ
ก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นในไต ประกอบด้วยหินปูน (แคลเซียม) กับสารเคมีอื่น ๆ เช่น ออกซาเลต กรดยูริก เป็นต้น การเกิดนิ่วจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะที่มีแคลเซียมในปัสสาวะมากผิดปกติ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะการกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง การดื่มนมมาก ๆ หรือมีภาวะผิดปกติอื่น ๆ (เช่น ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกิน ซึ่งทำให้มีแคลเซียมในเลือดสูง)
นอกจากนี้ ยังพบเป็นโรคแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคเกาต์ ซึ่งมีการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ
บางกรณีอาจพบเป็นผลข้างเคียงของยา เช่น ยาต้านไวรัสเอดส์-อินดินาเวียร์ (indinavir) ยาขับปัสสาวะฟูโรซีไมด์ ยาแก้ลมชัก-โทพิราเมต (topiramate)
ส่วนกลไกของการเกิดนิ่วนั้น ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่ามีปัจจัยร่วมกันหลายอย่างด้วยกัน เช่น การอยู่ในเขตร้อนที่ร่างกายสูญเสียเหงื่อง่าย (แล้วดื่มน้ำน้อย ทำให้ปัสสาวะมีปริมาณแคลเซียมเข้มข้น) การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ความผิดปกติของไต เป็นต้น
ผู้ที่ชอบกินอาหารที่มีสารออกซาเลตสูง (ดู "โรคนิ่วกระเพาะปัสสาวะ") หรือกินวิตามินซีขนาดสูง ๆ (ซึ่งจะกลายเป็นสารออกซาเลต) ก็อาจเป็นนิ่วได้มากกว่าคนปกติ
อาการ
ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดเอวปวดหลังข้างใดข้างหนึ่ง ลักษณะปวดแบบเสียด ๆ หรือปวดบิดเป็นพัก ๆ อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะอาจมีลักษณะขุ่นแดง หรือมีเม็ดทราย
ถ้าก้อนนิ่วมีขนาดเล็ก อาจตกลงมาที่ท่อไต ทำให้เกิดอาการปวดบิดในท้องรุนแรง (ดู "โรคนิ่วท่อไต")
บางรายอาจไม่มีอาการแสดงเลยก็ได้ และอาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพด้วยสาเหตุอื่น
ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เกิดการติดเชื้อกลายเป็นกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน และถ้าปล่อยไว้นาน ๆ มีการติดเชื้อบ่อย ๆ ก็ทำให้เนื้อไตเสีย กลายเป็นไตวายเรื้อรังได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจปัสสาวะ (พบมีเม็ดเลือดแดงจำนวนมาก) ตรวจเลือด เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การถ่ายภาพรังสีไตด้วยการฉีดสารทึบรังสี (intravenous pyelogram/IVP) บางรายอาจนำปัสสาวะไปวิเคราะห์ดูสารที่เป็นปัจจัยของการเกิดนิ่ว
การรักษาโดยแพทย์
นอกจากแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
ถ้ามีอาการปวดให้ยาแก้ปวด หรือแอนติสปาสโมดิก
ถ้ามีการติดเชื้อ ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน โคไตรม็อกซาโซล โอฟล็อกซาซิน หรือไซโพรฟล็อกซาซิน
ในรายที่มีสาเหตุชัดเจน ควรจะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น ให้ยารักษาโรคเกาต์ในรายที่เป็นโรคเกาต์, ถ้าเกิดจากต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกิน ก็ทำการแก้ไขด้วยยาหรือการผ่าตัด เป็นต้น
ถ้านิ่วก้อนเล็กอาจหลุดออกมาได้เอง หรืออาจรักษาด้วยการใช้กล้องส่อง (ureteroscope) สอดใส่ผ่านทางท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ ขึ้นไปตามท่อไต แล้วใช้เครื่องมือในการนำเอานิ่วออกมา หรือทำให้นิ่วแตกละเอียดแล้วหลุดออกมากับปัสสาวะ แพทย์อาจใส่หลอดลวดตาข่าย (stent) ถ่างขยายค้างไว้ในท่อไต เพื่อให้ปัสสาวะไหลออกได้สะดวก
ถ้าก้อนใหญ่ก็จะทำการผ่าตัดเอานิ่วออก หรือใช้เครื่องสลายนิ่ว (extracorporeal shock wave lithotripsy/ESWL)
ผลการรักษา เมื่อเอานิ่วออกมาได้ก็จะหายเป็นปกติ แต่บางรายอาจเกิดนิ่วก้อนใหม่ในเวลาต่อมาก็จะให้การรักษาใหม่ ในรายที่เป็นนิ่วไตแล้วปล่อยให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ก็จะมีความยุ่งยากในการรักษาตามมา
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการปวดเอวปวดหลังข้างใดข้างหนึ่ง ปัสสาวะมีลักษณะขุ่นแดง หรือมีเม็ดทราย ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นนิ่วไต ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
มีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดสีข้าง ปัสสาวะขุ่น
กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
1. ดื่มน้ำมาก ๆ ประมาณวันละ 8-12 แก้ว (2-3 ลิตร) ระวังอย่าให้ร่างกายขาดน้ำ
2. หลีกเลี่ยงการกินวิตามินซีขนาดสูงเป็นประจำ
3. ลดการกินพืชผักที่มีสารออกซาเลตสูง
4. บริโภคเนื้อสัตว์และอาหารที่มีแคลเซียมให้พอเพียง อย่าให้มากเกิน
5. ถ้าเป็นโรคเกาต์ ควรรักษาอย่างจริงจัง และควบคุมกรดยูริกให้อยู่ในระดับปกติ
ข้อแนะนำ
โรคนี้แม้จะไม่มีอาการแสดง ก็ควรจะรักษาอย่างจริงจัง และเมื่อรักษาหายแล้วควรป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ โดยดื่มน้ำวันละ 2-3 ลิตร ดื่มน้ำมะนาววันละ 1 แก้ว (เพิ่มสารซิเทรตในปัสสาวะ ช่วยยับยั้งการเกิดนิ่ว) ลดอาหารที่มีกรดยูริก แคลเซียมและออกซาเลตสูง